ปฎิทินกิจกรรมโรงเรียน   >>ขยาย
..ประวัติโรงเรียนจิตรลดา..
องค์พระราชทานกำเนิด
 

โรงเรียนจิตรลดามีจุดกำเนิดจากความรักและความห่วงใยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

  • ความรัก ในฐานะผู้ปกครองแผ่นดิน พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีต่อพสกนิกรในทุก ๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องพัฒนาการศึกษา
  • ความรัก และในฐานะผู้ให้กำเนิด ทั้งสองพระองค์ทรงให้ความใส่พระราชหฤทัย ในการเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ ทรงทำหน้าที่พระราชมารดาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ทรงทำอาหารว่าง หรือทรงเล่านิทานพระราชทานแก่ พระราชโอรส และพระราชธิดา ก่อนบรรทมด้วยพระองค์เอง
ด้วยความรักทั้งสองประการได้หลอมรวมให้เกิดแนวพระราชดำริที่จะตั้งโรงเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นในเขตพระราชฐาน และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.ทัศนีย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์)รับสนองพระบรมราโชบายเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2498 (คัดมาจากวีดีทัศน์ โรงเรียนจิตรลดา 50ปี)


พระบรมราโชวาทใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงเรียนจิตรลดา

" ...สอบไล่แล้ว ก็ออกไปเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา หรือจะไปเรียนที่ไหน หรือจะไม่เรียนก็ตาม ขอให้พิจารณาว่า ได้ผ่านโรงเรียนนี้เป็นเกียรติและเป็นประโยชน์ ขอให้สำนึกในคำนี้ว่าสำคัญแค่ไหน คืออย่าไปถือว่าเป็นเกียรติหรือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นคำที่กลาง ๆ เกียรติที่พูดถึงนี้มีความรับผิดชอบติดตัวอยู่ตลอด เพราะเกียรติเมื่อมีแล้วจะต้องรักษา รักษาด้วยการปฏิบัติตนให้ดีทุกทาง หมายถึงว่าถ้าไปเรียนชั้นอุดมศึกษาในสถาบันใด จะเป็นในประเทศ หรือนอกประเทศก็ตาม ตัวต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ได้ผ่านโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วก็เกียรตินี้จะต้องทำให้เกิดความรับผิดชอบ เพื่อนใหม่ที่จะได้พบในสถาบันที่จะศึกษาต่อไปนั้น เขาจะทราบว่ามาจากไหน ถ้าทำตนให้เป็นที่น่านับถือ มีความคิดที่ดี รอบคอบมีความเป็นผู้ดี หมายความว่ารู้จักคิด รู้จักพิจารณา ถ้าสักแต่จะปล่อยให้จิตใจของตนไปตามความคะนองของวัย หรือไปตามความสนุกสนาน โดยที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว นั่นแหละจะทำให้เกียรติของโรงเรียนจิตรลดาเสียไปและเกียรติของตัวก็หายไปเหมือนกัน....." ".......ที่ได้บอกว่า ได้มีโอกาสมาเรียนวิชาความรู้ในโรงเรียนนี้ ก็ขอให้เอาวิชาความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นก้าวหนึ่งต่อไปในการศึกษาที่จะสูงขึ้นไป ทีได้รับการอบรมให้เป็นผู้ที่มีมารยาทดี มีไหวพริบดี มีความฉลาดนั้น ก็เอาไปใช้ในทางการเรียน แต่ว่าต้องไปใช้ในทางการวางตัวด้วย มิใช่ว่าก้มหน้าก้มตาที่จะเรียนให้ได้แล้วก็ไม่นึกถึงการวางตัว ความจริงการวางตัวกับการเรียนนั้นคู่กัน ถ้าวางตัวให้ดีทำให้เรียนได้ดี ถ้าวางตัวไม่ดีเป็นอันธพาล ก็จะทำให้การเรียนนั้นมีอุปสรรคอย่างยิ่ง แม้ตอนต้นจะสามารถเรียนได้บ้าง แต่ทีหลังความเป็นอันธพาล ความเป็นผู้ไร้ความคิด จะนำไปสู่หายนะ จะทำให้ผู้อื่นสามารถชักนำเราในทางที่ผิดได้ จึงต้องใช้ทั้งความรู้ที่ได้จากโรงเรียนนี้ ทั้งที่ได้อบรมแล้วอย่าไปว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญทุกอย่าง การวางตัวเป็นพลเมืองดี คือเป็นเยาวชนที่ดีก่อนแล้วเป็นพลเมืองดีต่อไปนั่นแหละที่เป็นหน้าที่อันสำคัญ และโดยเฉพาะต่อไปเมื่อไปอยู่สำนักศึกษาชั้นอุดมศึกษาแล้ว ตัวจะมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น เพราะว่าถือกันทั่วโลกว่าผู้ที่เป็นนักศึกษา ผู้ที่เป็นนักค้นคว้า ผู้ที่เป็นนักเรียนนั้น เป็นผู้ที่เป็นปัญญาชน หมายความว่าผู้ที่ใช้สมอง คำว่านักศึกษาเป็นปัญญาชนนี้ ขอให้พิสูจน์ให้เป็นจริง ส่วนข้อเท็จจริงทุกอย่าง ขอให้จำเอาไว้ และปฏิบัติ จึงจะไปสู่ความเจริญ ความสำเร็จ ความพอใจได้ทุกประการ และจะเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตในทางที่ถูกที่ต้อง เป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เมื่อเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และสังคม ก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเองอย่างยิ่ง เพราะว่าสามารถที่จะหาความสุขใจที่แท้จริง คือความก้าวหน้า ความมั่นคงของประเทศ และความสุขของส่วนรวม... "
ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2512